ทำไมเราต้อง “วางแผน”
เพราะเรามี “เป้าหมาย” ที่ต้องทำให้สำเร็จ
คนที่ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ ว่าคืออะไร จะมีโอกาสพบความสำเร็จได้น้อย หรืออาจจะไม่ได้พบความสำเร็จเลย ก็เป็นไปได้
ก็เหมือนกับ อลิซ In Wonderland ถามเจ้าแมวว่า
“ช่วยบอกได้ไหมคะว่าหนูควรไปทางไหน”
“ขึ้นอยู่กับว่าหนูอยากจะไปที่ไหน” เจ้าแมวถาม
“ที่ไหนก็เหมือนกัน”
“ถ้าอย่างนั้นก็ไม่สำคัญหรอกว่าหนูจะไปทางไหน” เจ้าแมวตอบ
ทุกวันเราจะมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย แต่เราจะต้องรู้ว่าอะไรที่ “ควรทำ” เพื่อให้ไปถึง “เป้าหมาย”
เมื่อเรารู้ว่าควรทำอะไร เพื่อให้ได้ไปถึงเป้าหมาย สิ่งที่เราได้ออกมาคือ “แผน”
“แผน” คือ รายการหรือขั้นตอนที่เราจะต้องทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย (ที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต)
ดังนั้น “การวางแผน” คือการทำอนาคต ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้ทำบางอย่างกับมันตั้งแต่ตอนนี้
หากเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมันไกลตัวเกินไปจนไม่รู้แน่ชัด สามารถ แบ่งย่อยเป้าหมายออกเป็น 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี ..10 ปี ที่ในแต่ละปีมีขั้นตอน หรือกระบวนการอะไรที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายในแต่ละในปี จนถึงปีที่ 10 ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ และไกลสุดของเรา — ซึ่งหากเราวางแผนเสร็จ สิ่งที่เราจะได้คือ “แผน”
มาถึงตรงนี้ หลายคนมักคิดว่า “วางแผน” แล้ว ได้ “แผน” แล้ว ก็เท่านั้นไหม ผ่านไป 1 ปีทำได้ ขึ้นปีที่ 2 ก็ทำไม่ได้ละ โอ๊ยยย จะไปถึง 10 ปี ก็เป็นไปไม่ได้หรอก
บางคน อาจจะสั้นมากกว่านั้น “วางแผน” จนได้ “แผน” มา 6 เดือน ก็คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้ว
กฎเหล็ก 3 ข้อที่สำคัญ ที่จะทำให้เราได้ “ผลลัพธ์อันน่าทึ่ง” หลังจากเราได้ “วางแผน” จนได้ “แผน” ที่เราต้องทำ คือ
- มีความพยายามอันน่าทึ่ง มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (ทำตามแผน ที่เราได้วางแผน นั่นแหละ)
- หมั่นเสาะหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรไร้ประประโยชน์ไปกว่าการพยายามอย่างเต็มที่ (หากทำตามแผน แล้วมีปัญหา)
- มีความรับผิดชอบที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ “เป้าหมาย” ของคุณสำเร็จ (ยอมรับ วางแผนใหม่ และสู้ต่อไป)
(อ่านกฎเหล็ก 3 ข้อต่อได้ที่นี่)
เราบอกได้เลยว่า หากเราทำเพียงแค่ “วางแผน” “มีแผน” แล้วจะประสบความสำเร็จ พิชิต “เป้าหมาย” ได้นั้น ไม่จริงเลย
สิ่งที่ต้องมีด้วยคือ “ลงมือทำด้วยความพยายาม และรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น”
หาก “ผลลัพธ์” ที่ได้ มันไม่น่าทึ่ง มีความผิดพลาด สิ่งที่เราจะทำได้คือ หาวิธีที่ดีที่สุด และ “วางแผนใหม่” จนได้ “แผนใหม่” อีกนั่นแหละ
ดังนั้น “การวางแผน” (Planning) สำคัญกว่า “แผน” (Plan)
สองคำนี้ จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้ ดังนี้
หมายเหตุ: บทความนี้ ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ “ได้ทุกสิ่งด้วยสิ่งเดียว (The One Thing)” จึงไม่ค่อยได้ใช้คำว่า “สิ่งเดียว (The One Thing)” เพราะเรามีความคิดว่า หากต้องการเข้าใจ “สิ่งเดียว” ซึ่งเป็นคำสำคัญ ในหนังสือเล่มนี้ ควรจะต้องอ่านเอง หากตัดบางส่วนมา หรือเขียนบางส่วน อาจจะทำให้ไม่เข้าใจ แก่นของ “สิ่งเดียว” ที่ผู้เขียนต้องการบอก และเราก็อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านกัน ^^